นอนกลางวันแล้วปวดหัว เกิดจากอะไร

นอนกลางวันแล้วปวดหัว เกิดจากอะไร

จริงๆ แล้วเราอาจเคยได้ยิน ได้ฟังกันมาบ้างว่า หลังทานอาหารกลางวันเสร็จ แล้วให้ร่างกายให้งีบสักแป๊บ หลังตื่นมาจะทำให้ร่างกายเฟรชขึ้น สดชื่นขึ้น พร้อมรับกับการทำงานในช่วงบ่าย

สำหรับคนที่เป็นไมเกรน มีหลายคนทีเดียวที่ หลังนอนกลางวันปุ๊บ ไมเกรนถามหาแน่ๆ เลย แทนที่จะทำให้ร่างกายเฟรช กลับทำให้ปวดหัวหนักกว่าเดิม

.

จากการศึกษาของ National Sleep Foundation พบว่า ผู้คนที่มีความผิดปกติของการนอนหลับ จะทำให้เกิดอาการปวดหัวบ่อยกว่าคนทั่วไป 2-8 เท่า


มีทั้งหมด 4 สาเหตุ

1.นอนกรน

ซึ่งสาเหตุนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งการงีบตอนกลางวัน หรือการนอนหลับในตอนกลางคืน เนื่องมาจากคนที่มีภาวะนอนกรน ระบบทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลงขณะนอนหลับ โดยตำแหน่งอาจจะเป็นตั้งแต่จมูก คอหอย โคนลิ้น หรือกล่องเสียงบางส่วน ซึ่งเสียงที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากลมหายใจที่ผ่านบริเวณที่ตีบแคบ เกิดการเสียดสีและสั่นสะเทือนจนเกิดเป็นเสียงกรน รวมถึงอากาศหรือออกซิเจนที่ผ่านเข้าสู่ร่างกายไม่เพียงพอ ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้น้อย เกิดเป็นอาการปวดหัวขึ้นได้

.

ทั้งนี้คนที่มีภาวะนอนกรน มักจะมีภาวะแทรกซ้อนได้ อย่างภาวะหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ (Sleep apnea) ซึ่งโรคนี้ควรระมัดระวังและสังเกตุให้ดีหากเป็นน้อยควรใช้การปรับพฤติกรรม แต่หากเป็นรุนแรงอาจจะต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะนอกจากจะส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวหลังตื่นนอนแล้ว คุณภาพการนอนที่แย่ลง อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

.

2.นอนกัดฟัน

พฤติกรรมการนอนกัดฟัน มักเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่รู้ตัว ซึ่งพฤติกรรมนอนกัดฟันนี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามันเชื่อมโยงทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ เนื่องมาจากระหว่างนอนแล้วกัดฟัน จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณกรามทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เกิดความเมื่อล้าและเป็นที่มาของอาการปวดได้ โดยคนที่มักจะมีอาการปวดหัวได้ง่ายอย่างชาวไมเกรนเพียงอาการปวดที่เกิดขึ้นจากบริเวณกล้ามเนื้อกราม ระบบประสาทที่รับรู้เรื่องความเจ็บปวดจะมีการตอบสนองและส่งสัญญาณอาการปวดขึ้นไปบริเวณสมองให้เกิดการหลังสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน

.

3.คุณภาพการนอนไม่ดี

สำหรับคุณภาพการนอนนี้จะมีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

  • หมอนที่ใช้ในการนอน พอดีกับการนอนหรือไม่ ไม่ต่ำหรือสูงไปที่จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ เกิดการเกร็งตัวจนเกิดกล้ามเนื้อตึงเป็นจุดกดเจ็บทำให้เป็นสาเหตุของอาการปวดหัวได้ 
  • สถานที่นอนควรมีความสงบ อากาศถ่ายเท ไม่มีเสียงดังรบกวน หรือมีแสงจ้ามากเกินไป เพราะหากเรานอนในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ออกซิเจนน้อย เสียงดังรบกวน ส่งผลต่อคุณภาพการนอนที่ไม่ดี หลับไม่สนิท หลังตื่นนอนก็อาจทำให้ปวดหัวได้เช่นกัน
  • ระยะเวลาการนอน การงีบระหว่างตอนกลางวันควรงีบที่ประมาณ 30 นาท - 1 ชั่วโมงพอ และไม่ควรงีบหลังบ่าย 3 โมง เพราะการงีบหลังบ่าย 3 โมงเป็นต้นไปจะทำให้ไปรบกวนวงจรการนอนของคุณในช่วงกลางคืนได้ 

.

4.อาหารหรือเครื่องดื่มที่ทานก่อนนอน

อาหารหรือเครื่องดื่ม จำพวกที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ ที่เราอาจเผลอทานก่อนงีบกลางวัน ตอนตื่นมาก็อาจจะทำให้ปวดหัวได้เช่นกัน เพราะในคาเฟอีนจะมีสารที่กระตุ้นให้สมองและระบบประสาทเกิดการตื่นตัวแทน รบกวนกระบวนการนอนหลับ หรือตัวแอลกอฮอล์เอง แม้จะทำให้ง่วงในช่วงแรกเพราะมีฤทธิ์กล่อมประสาท แต่แอลกอฮอล์จะไปรบกวนโครงสร้างการนอนหลับ ทำให้คุณภาพนอนไม่ดี และทำให้ปวดหัวได้นั้นเอง

.

วิธีป้องกัน

  1. งีบหลับกลางวันให้เป็นเวลา : ไมเกรนจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีกิจวัตรประจำวันที่เหมือนๆ กันในแต่ละวัน และอยากได้พลังงานที่สดชื่นหลังกับข้าวมื้อเทียง การกำหนดเวลางีบกลางวันให้เป็นเวลาเดียวกันในทุกวัน แม้จะในวันหยุด ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยหยุดไมเกรนของคุณได้
  2. ปรับสภาพแวดล้อมการนอนกลางวันให้เหมาะสม : ควรเป็นพื่นที่เย็นสบาย สงบ ไม่เสียงดัง และมืดพอควร 
  3. หลีกเลี่ยงการทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ ก่อนการงีบกลางวันของคุณ เพื่อให้คุณภาพการนอนกลางวันของคุณได้พลังในการทำงานช่วงบ่ายอย่างเต็มที่
  4. จัดการกับความเครียด เทคนิคเช่นการทำสมาธิ การหายใจลึก ๆ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยลดระดับความเครียดได้นะ

พตต.พญ.จุฑาทิพย์ รัตนพันธ์ Smile Migraine
 

กลับไปยังบล็อก

บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ